ขี่มอเตอร์ไซค์ล้มเอง เบิกค่ารักษา พ.ร.บ. ได้หรือไม่?
ขี่มอเตอร์ไซค์ล้มเอง เบิกค่ารักษา พ.ร.บ. ได้หรือไม่?

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 แบบนี้ หลายคนนอกจากจะใช้รถจักรยานยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ในการขี่ไปเที่ยวเล่นน้ำสงกรานต์ หรือเป็นไรเดอร์ที่ยังต้องขี่ส่งอาหาร เป็นบุรุษไปรษณีย์ขี่ส่งของ หรือเป็นพนักงานส่งพัสดุ ที่อาจยังต้องทำงานในช่วงสงกรานต์ก็ตาม

แต่ระหว่างขี่รถมอเตอร์ไซค์ อาจเจอพื้นเปียกจากคนเล่นน้ำบนถนน เจอคนสาดน้ำใส่ หรือเกิดลื่นจนเกิดอุบัติเหตุรถล้ม โดยที่ไม่มีคู่กรณี บาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาล พ.ร.บ. จะให้ความคุ้มครองหรือไม่? Siamcar หาคำตอบมาให้ครับ

ขี่มอเตอร์ไซค์ล้มเอง เบิกค่ารักษา พ.ร.บ. ได้หรือไม่?

พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ ให้ความคุ้มครองผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทุกกรณีโดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิด จึงครอบคลุมกรณีรถล้มเองแบบไม่มีคู่กรณี, เฉี่ยวชนแบบมีคู่กรณีแต่ยังไม่สามารถตัดสินถูกผิดได้ หรือแม้กระทั่งถูกชนแล้วหนี

สำหรับการรถล้มแบบไม่มีคู่กรณี ไม่ว่าจากถนนลื่น, ขับรถชน, ลื่นจากพื้นเปียก, ถูกหมาแมววิ่งตัดหน้า ฯลฯ จัดว่าเป็นเกิดอุบัติเหตุแบบไม่ต้องพิสูจน์ความผิด ซึ่ง พ.ร.บ. จักรยานยนต์ให้ความคุ้มครอง ดังนี้

- กรณีได้รับบาดเจ็บ วงเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท/คน
- กรณีเสียชีวิต / ทุพพลภาพถาวร / สูญเสียอวัยวะ วงเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 35,000 บาท/คน
- หากเข้าข่ายทั้งสองกรณี วงเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 65,000 บาท/คน
     
ทั้งนี้ หากรถล้มทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายสามารถเบิกค่าชดเชยได้ทั้งคู่ภายใน 180 วัน หลังจากวันที่เกิดเหตุ และเมื่อยื่นเอกสารครบเรียบร้อยแล้ว จะได้รับเงินชดเชยภายใน 7 วันทำการ

ขี่มอเตอร์ไซค์ล้มเอง เบิกค่ารักษา พ.ร.บ. ได้หรือไม่?

รถล้มเอง เบิก พ.ร.บ. ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?

กรณีเบิกค่ารักษาพยาบาล

- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง
- ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล (ฉบับจริงเท่านั้น)

กรณีสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพถาวร

- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง
- ใบรับรองแพทย์ 
- หนังสือรับรองความพิการ
- สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน

กรณีเสียชีวิต

- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือสำเนาหนังสือเดินทาง
- ใบมรณบัตร
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้านของทายาท และบัตรประจำตัวประชาชนของทายาท
- สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน

การยื่นเรื่องเบิกค่าชดเชยจาก พ.ร.บ. สามารถยื่นเรื่องกับบริษัทประกันภัยที่ซื้อไว้ หรือกับ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยต้องดำเนินการภายใน 180 วันนับจากวันเกิดเหตุ จากนั้นจะได้รับค่าชดเชยภายใน 7 วันทำการ

สำหรับการจ่ายค่าเสียหาย ของบริษัทประกันภัย จะจ่ายให้กับผู้เสียหายที่แท้จริงเท่านั้น หากผู้เสียหายนั้นไม่สามารถมาดำเนินการด้วยตนเองได้ สามารถมอบอำนาจให้กับบุคคลหนึ่ง บุคคลใดที่ท่านไว้วางใจให้มาทำการแทนได้ 

โดยต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ และการจ่ายค่าเสียหายนั้น ทางบริษัทประกันภัยจะจ่ายเป็นเช็คชื่อผู้ประสบภัยที่แท้จริง เว้นแต่กรณีที่ผู้ประสบภัยเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะจ่ายเช็คให้กับทายาทโดยธรรมตามกฎหมายเท่านั้น

แหล่งที่มาจาก
- บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด
- คปภ.
- ภาพหน้าปกจาก มูลนิธิสยามรวมใจปู่อินทร์ - กรุงเทพฯ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง