NETA หยุดผลิตรถ EV ไม่ทำตามเงื่อนไข  สรรพสามิต จ่อปรับหนัก!
NETA หยุดผลิตรถ EV ไม่ทำตามเงื่อนไข สรรพสามิต จ่อปรับหนัก!

 NETA หยุดผลิตรถ EV ไม่ทำตามเงื่อนไข  สรรพสามิต จ่อปรับหนัก!

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีบริษัท เนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ที่ขณะนี้ยังไม่สามารถผลิตรถอีวีชดเชยได้ตามเงื่อนไขว่า กรมสรรพสามิตได้ระงับจ่ายค่าชดเชยบริษัทเนต้า ประเทศไทยแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดเรื่องค่าปรับ โดยเงื่อนไขมาตรการส่งเสริมอีวีสิ้นสุด 31 ธ.ค. 68 ต้องติดตามว่าภายในระยะเวลาดังกล่าว การผลิตรถอีวีชดเชยไม่ทันจำนวนเท่าใด ก็จะมีการปรับตามเงื่อนไขต่อไป

สำหรับวิธีการคำนวณค่าปรับกรณีผิดเงื่อนไขมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐ คือ

- ยึด Bank Guarantee ที่บริษัทที่นำมาวางไว้
- ต้องคืนเงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคัน บวกกับเรื่องดอกเบี้ย
- คืนภาษีสรรพสามิตที่ได้รับยกเว้น ประมาณ 6% บวกเบี้ยปรับ 2 เท่าของภาษีสรรพสามิต บวกกับเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน และค่าปรับอีก 1 เท่า

โดยขณะนี้ได้มีแนวทางใหม่ในการควบคุมการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ผลิตรถ EV ที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐ โดยเสนอให้มีการกำหนด “ใบเหลือง-ใบแดง” แก่ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถผลิตได้ตามแผนที่ยื่นไว้เพื่อที่จะกำหนดให้คนที่มารับเงื่อนไขอีวี 3.00 และอีวี 3.5 ต้องทำแผนการผลิตในทุก ๆ เดือน

“เราจะให้ผู้ผลิตทำแผนรายเดือน ถ้าผลิตได้ไม่ถึง 30% ของแผนเดือนใด จะโดนใบเหลือง และหากเดือนต่อไปยังต่ำกว่า 30% อีก ก็จะโดนใบแดง พร้อมถูกตัดสิทธิเงินอุดหนุนทันที โดยสรรพสามิตจะระงับการจ่ายเงินชดเชย พร้อมเรียกเงินคืนและค่าปรับ” นายเผ่าภูมิกล่าว

สำหรับมาตรการนี้เสนอเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพิ่มกลไกกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดการใช้สิทธิประโยชน์โดยไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจจริง และสร้างกระบวนการและเงื่อนไขที่เหมาะสม เพื่อลงโทษ หรือระงับการจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ประกอบการที่ผิดเงื่อนไขการผลิตรถชดเชยคืนไม่ทันตามสัญญา จากมาตรการส่งเสริมอีวี หากได้รับการอนุมัติแล้ว จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

นายเผ่าภูมิกล่าวว่า ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังพิจารณาทบทวนโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยย้ำว่าการส่งเสริม EV ต้องดำเนินควบคู่กับการดูแลอุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวม ไม่เร่งปรับเร็วเกินไปจนกระทบภาคการผลิตที่ยังพึ่งพายานยนต์เครื่องยนต์สันดาป (ICE) อยู่

“ถ้าเร่งโยนน้ำหนักไปที่ EV อย่างเดียว โดยไม่มีช่วงเปลี่ยนผ่านที่เหมาะสม จะกระทบห่วงโซ่การผลิตเดิมที่กินเวลานานกว่าจะปรับตัวได้” นายเผ่าภูมิกล่าว พร้อมระบุว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเงื่อนไขภาษีและแรงจูงใจในหลายหมวด เช่น รถยนต์ไฮบริด (HEV) และปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV) เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและต่อเนื่อง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง