ทางด่วนขึ้นราคา! สายฉลองรัช และ บูรพาวิถี เตรียมจ่ายเพิ่ม 1 มีนาคมนี้
ทางด่วนขึ้นราคา! สายฉลองรัช และ บูรพาวิถี เตรียมจ่ายเพิ่ม 1 มีนาคมนี้

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีกำหนดปรับค่าผ่านทาง ทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 โดยอัตราค่าผ่านทางใหม่ ทางกระทรวงคมนาคมได้ลงนามประกาศแล้ว ดังนี้ 

- ทางพิเศษฉลองรัช รถ 4 ล้อ ปรับจาก 40 บาท เป็น 45 บาท รถ 6-10 ล้อ จาก 60 บาท เป็น 65 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ จาก 80 บาท เป็น 90 บาท 

- ทางพิเศษบูรพาวิถี รถ 4 ล้อ ปรับจาก 70 บาท เป็น 80 บาท รถ 6-10 ล้อ จาก 145 บาท เป็น 165 บาท รถมากกว่า 10 ล้อ จาก 220 บาท เป็น 245 บาท

ทางด่วนขึ้นราคา! สายฉลองรัช และ บูรพาวิถี เตรียมจ่ายเพิ่ม 1 มีนาคมนี้

สำหรับการปรับค่าผ่านทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถีครั้งนี้ เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย TFFIF โดย กทพ.ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2566 และประกาศให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 ก.ย. 2566 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2566 กระทรวงคมนาคม ได้ประกาศชะลอการปรับค่าผ่านทางดังกล่าวออกไป 6 เดือน หรือให้ไปมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 นี้ จนกระทั่งล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้ประกาศค่าอัตราค่าผ่านทางใหม่ และเตรียมปรับค่าผ่านทางในครั้งนี้

ทางด่วนขึ้นราคา! สายฉลองรัช และ บูรพาวิถี เตรียมจ่ายเพิ่ม 1 มีนาคมนี้

ขณะที่นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ว่า ตามที่ กทพ.มีแผนการดำเนินงานโครงการในระยะที่ 1 (ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก) หรือตอน N2 เดิม มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท โดย กทพ.ได้ปรับแผนและเปลี่ยนชื่อโครงการใหม่ เป็นโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกฯ และนำเสนอบอร์ด กทพ.เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา 

แต่บอร์ด กทพ. มีความเห็นให้ กทพ. กลับไปศึกษาเพิ่มเติม เช่น สภาพความแข็งแรงของโครงสร้างเสาตอม่อ ตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ จำนวน 281 ต้น เนื่องจากมีอายุ 25 ปีแล้ว ซึ่ง กทพ.จะเร่งดำเนินการใน 2 เดือน เพื่อเสนอบอร์ด กทพ. พิจารณาอีกครั้งในเดือน มี.ค. นี้ 

ส่วนตอน N1 (ช่วงทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-ถนนประเสริฐมนูกิจ) ระยะทาง 6.7 กม. มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่าง ศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีประเด็นช่วงผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยแนวทางก่อสร้างเป็นอุโมงค์ใต้ดิน เพื่อลดผลกระทบ ซึ่งต้องรอสรุปการศึกษาและรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องต่อไป

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง