
ล่าสุด'แท็กซี่' จี้ปิด 'แกร็บ' ในสนามบิน!
สมาคมผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไข กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชัน เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการรถยนต์รับจ้างสาธารณะแท็กซี่และผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งขอให้พิจารณาทบทวนหรือยกเลิกการอนุญาตให้รถยนต์ที่เรียกผ่านระบบแอปพลิเคชัน Grab สามารถเข้าให้บริการในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า กลุ่มผู้ขับแท็กซี่สุวรรณภูมิบางส่วนเรียกร้องให้ยกเลิกบริการรถยนต์ผ่านแอปพลิเคชันภายในพื้นที่สนามบิน โดยอ้างว่าส่งผลกระทบต่อจำนวนเที่ยววิ่งและรายได้ของแท็กซี่มิเตอร์ที่ให้บริการในสนามบิน ซึ่งเรื่องนี้ต้องชี้แจงว่า ภายในสนามบินมีบริการรถสาธารณะที่หลากหลาย ทั้งรถเมล์, รถ บขส., แท็กซี่มิเตอร์, รถยนต์ผ่านแอปพลิเคชัน (รถป้ายเขียว) และรถลิมูซีน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารทุกกลุ่มราคา
โดยจะมีการประชุมเพื่อสรุปผลการหารือข้อร้องเรียนอีกครั้งในวันที่ 28 พ.ค.นี้ โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และตัวแทนกลุ่มแท็กซี่เข้าร่วม โดยกระทรวงคมนาคมยืนยันนโยบายที่จะให้ทุกบริการอยู่ร่วมกันได้ ผู้ให้บริการต้องปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี และให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกใช้บริการ ส่วนกรณีที่มีการหากมีการขู่ปิดสนามบิน จะไม่สามารถกระทำได้ ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย
อย่างไรก็ดี หากย้อนการเคลื่อนไหวรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ของกลุ่มแท็กซี่ที่ออกมาเรียกร้องในประเด็นต่างๆ และได้รับการตอบรับจากภาครัฐนำไปดำเนินการ พบว่ามีเหตุการณ์สำคัญ อาทิ
7 ส.ค.2562 กระทรวงคมนาคมรับข้อร้องเรียนของผู้ประกอบการแท็กซี่ มีมติปรับอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกโดยสารไม่เกิน 7คน (แท็กซี่มิเตอร์) ในเขตกรุงเทพมหานคร กำหนดกิโลเมตรที่ 1-10 กิโลเมตร จาก 6 บาท เป็น 6.50 บาทต่อกิโลเมตร กรณีรถติดนานปรับขึ้นเป็นนาทีละ 3 บาท พร้อมทั้งรับข้อร้องเรียนปรับขึ้นเซอร์ชาร์จแท็กซี่สนามบิน เพิ่มจาก 50 บาท เป็นรถขนาดเล็กไม่เกิน 70 บาท รถขนาดใหญ่ไม่เกิน 90 บาท ส่วนค่าสัมภาระขนาดเกิน 26 นิ้ว จะบริการฟรี 2 ชิ้นแรก ชิ้นที่ 3 เป็นต้นไปเก็บชิ้นละ 20 บาท และสั่งกรมขนส่งทางบกยกเลิกโครงการ TAXI OK เนื่องจากแท็กซี่มีภาระต้องจ่ายค่าบริการ 350 บาท
17 พ.ย. 2563 กระทรวงคมนาคมออกประกาศ เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการอื่น กรณีการจ้างโดยมีบริการพิเศษสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI-METER) ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 จำกัดเฉพาะการใช้บริการรถแท็กซี่จากท่าอากาศยานดอนเมือง หรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือการจ้างจากสถานที่อื่นไปยังท่าอากาศยานดอนเมืองหรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเท่านั้น อนุมัติให้ปรับขึ้นค่าสัมภาระ ประกอบด้วย
1. สัมภาระขนาดใหญ่หรือกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ ที่มีขนาดความกว้าง ความยาว หรือความสูงด้านใดด้านหนึ่ง เกินกว่า 26 นิ้วขึ้นไป ให้เรียกเก็บค่าบริการในอัตราชิ้นละไม่เกิน 20 บาท
2. สัมภาระขนาดเล็กหรือกระเป๋าเดินทางขนาดเล็ก ที่มีขนาดความกว้าง ความยาว หรือความสูงด้านใดด้านหนึ่ง ไม่เกิน 26 นิ้ว แต่มีจำนวนหลายชิ้น ให้เรียกเก็บค่าบริการตั้งแต่ชิ้นที่ 3 ขึ้นไป ในอัตราชิ้นละไม่เกิน 20 บาท
3. อุปกรณ์การกีฬาจำพวก ถุงกอล์ฟ รถจักรยาน วินด์เซิร์ฟ หรือเครื่องดนตรี ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 50 นิ้วขึ้นไป ให้เรียกเก็บค่าบริการในอัตราชิ้นละไม่เกิน 100 บาท
4. กรณีสัมภาระเป็นสินค้า สิ่งของ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่บรรจุกล่อง และที่มิได้มีการบรรจุกล่อง แต่มีการมัดรวมหรือหีบห่อรวมกันไว้ ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 50 นิ้วขึ้นไป ให้เรียกเก็บค่าบริการในอัตราที่บรรจุกล่อง มัดรวมหรือหีบห่อชิ้นละไม่เกิน 100 บาท
15 ธ.ค.2565 กระทรวงคมนาคมออกประกาศ เรื่อง กำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร และค่าบริการอื่น สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI - METER) ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน
โดยรายละเอียดของประกาศบางส่วนระบุถึงการกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร สำหรับกรณีรถยนต์รับจ้าง ที่มีลักษณะเป็นรถเก๋งสามตอน รถเก๋งสามตอนแวน รถยนต์นั่งสามตอน และรถยนต์นั่งสามตอนแวน ให้กำหนด ดังต่อไปนี้
ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 40.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6.50 บาท
ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 7.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 8.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 60 กิโลเมตรละ 8.50 บาท
ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 80 กิโลเมตรละ 9.00 บาท
ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท
ส่วนกรณีรถยนต์รับจ้าง นอกจากข้อ 1 ให้กำหนด ดังต่อไปนี้
- ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 35.00 บาท
- ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 6.50 บาท
- ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 7.00 บาท
- ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 8.00 บาท
- ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 60 กิโลเมตรละ 8.50 บาท
- ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 80 กิโลเมตรละ 9.00 บาท
- ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท
นอกจากนี้ กรณีรถในกลุ่มที่ 1 หรือ 2 ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้เกินกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้กำหนดอัตรานาทีละ 3.00 บาท ส่วนกรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารหรือระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เรียกเก็บค่าบริการอื่นเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 20 บาท และกรณีการจ้างจากท่าอากาศยานดอนเมืองหรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยรถยนต์รับจ้างนั้น จอดรอคนโดยสารอยู่ในท่าอากาศยาน ณ จุดที่ได้จัดไว้เป็นการเฉพาะ ให้เรียกเก็บค่าบริการอื่นเพิ่มขึ้นจากที่แสดงไว้ในมาตรค่าโดยสารอีก 50 บาท