ครั้งแรกประวัติศาสตร์ไทยประเดิมส่งออก EV ครั้งแรกเดือนเมษายน 68 จำนวน 660 คัน
ครั้งแรกประวัติศาสตร์ไทยประเดิมส่งออก EV ครั้งแรกเดือนเมษายน 68 จำนวน 660 คัน

ครั้งแรกประวัติศาสตร์ไทยประเดิมส่งออก EV ครั้งแรกเดือนเมษายน 68 จำนวน 660 คัน

ส.อ.ท.เผยเดือนเม.ย.68 ไทยส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าครั้งแรก 660 คัน ด้านตัวเลขการขาย EV ช่วยดันยอดรถยนต์รวมฟื้นตัวเล็กน้อย

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังคงเผชิญกับภาวะวิกฤติอย่างต่อเนื่อง โดยกำลังการผลิตรถยนต์ลดลง และยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้ในเร็ววัน สร้างแรงกดดันอย่างหนักต่อผู้ประกอบการในภาคส่วนนี้ 

รวมถึงห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด ท่ามกลางปัจจัยลบรอบด้านที่รุมเร้า ทั้งปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง และความผันผวนของตลาดโลก ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงอยู่ในภาวะเปราะบาง และต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนเมษายน 2568 มีทั้งสิ้น 104,250 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2568 ร้อยละ 19.75 และลดลงจากเดือนเมษายน 2567 ร้อยละ 0.40 ผลิตต่ำสุดในรอบ 44 เดือน ซึ่งลดลงไม่มากเพราะมีการผลิตรถยนต์นั่ง และรถ SUV ไฟฟ้าทั้ง BEV PHEV และ HEV ในประเทศมากขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 639.75 319.11 35.31 ตามลำดับ 

แต่ผลิตรถยนต์นั่งสันดาปภายในลดลงร้อยละ 33.60 เพราะผลิตรถยนต์นั่งส่งออกลดลงถึงร้อยละ 36.93 เนื่องจากมีการเปลี่ยนรุ่นรถยนต์บางรุ่น รถกระบะยังคงผลิตลดลงร้อยละ 3.06 เพราะผลิตขายในประเทศลดลงร้อยละ 33.16 ตามยอดขายรถกระบะในประเทศที่ยังคงลดลงร้อยละ 22.25 จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม - เมษายน 2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 456,749 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม - เมษายน 2567 ร้อยละ 11.96

สำหรับการผลิตเพื่อส่งออกเดือนเมษายน 2568 ผลิตได้ 67,085 คัน เท่ากับร้อยละ 64.35 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนเมษายน 2567 ร้อยละ 6.73 ส่วนเดือนมกราคม - เมษายน 2568 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 303,881 คัน เท่ากับร้อยละ 66.53 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2567 ระยะเวลาเดียวกันร้อยละ 12.07

ทั้งนี้ การส่งออกเริ่มส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นเดือนแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ส่งออกในเดือนเมษายน ถือเป็นครั้งแรกจำนวน 660 คัน มีสัดส่วนร้อยละ 1.43 ของการส่งออกทั้งหมด ในปี 2567 ไม่มีการส่งออก

ส่วนเดือนเมษายน 2568 ส่งออกได้ 65,730 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้วร้อยละ 18.77 และลดลงจากเดือนเมษายน 2567 ร้อยละ 6.31 เพราะมีการเปลี่ยนรุ่นรถยนต์นั่งบางรุ่น และการเข้มงวดในเรื่องเทคโนโลยีช่วยเหลือเรื่องความปลอดภัย และการปล่อยคาร์บอนในบางประเทศคู่ค้า รถยนต์ HEV จึงส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 87.96 แต่จำนวนไม่มาก จึงส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย ออสเตรเลียตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาเหนือ คงต้องติดตามผลการเจรจาของประเทศไทย และประเทศคู่ค้าสำคัญของประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาต่อไป

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มีผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อยู่ใน Supply Chain กว่า 2,000 บริษัท และมีการจ้างงานกว่า 9 แสนคน 

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2565 – 2567) ความนิยมในรถยนต์ xEV ไม่ว่าจะเป็น BEV, PHEV และ HEV ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว จากยอดจดทะเบียนรถยนต์ xEV 84,500 คัน ในปี 2565 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 206,000 คัน ในปี 2567 โดยในส่วนของการลงทุน 

"ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในการผลิตรถยนต์ xEV และชิ้นส่วน จำนวน 644 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 280,000 ล้านบาท"

ด้านตัวเลขยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 30 เมษายน 2568 มีจำนวนทั้งสิ้น 266,863 คัน เพิ่มขึ้น 59.48 % โดยแบ่งประเภทได้ ดังนี้

- รถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่างๆ มีทั้งสิ้น 190,791 คัน เพิ่มขึ้น 64.62 %
- รถกระบะและรถแวนมีจำนวน 978 คัน เพิ่มขึ้น 125.35 %
- รถยนต์ 3 ล้อมีจำนวนทั้งสิ้น 1,029 คัน เพิ่มขึ้น 11.73 %
- รถจักรยานยนต์มีจำนวนทั้งสิ้น 70,246 คัน เพิ่มขึ้น 49.09 % 
- รถโดยสารมีจำนวนทั้งสิ้น 2,836 คัน เพิ่มขึ้น 12.23%
- รถบรรทุกมีจำนวนทั้งสิ้น 983 คัน เพิ่มขึ้น 125.98%

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง